- P Electronic
ระบบไฟในมอเตอร์ไซค์ที่ไม่ควรมองข้าม
ระบบไฟเป็นอีกระบบการทำงานของมอเตอร์ไซค์ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าระบบอื่นๆ และมักเป็นสิ่งที่ทุกคนมองข้ามไป วันนี้ขอนำท่านมารู้จักกับระบบไฟในมอเตอร์ไซค์ว่า มีการทำงานและควรดูแลรักษาอย่างไร เพื่อให้มอเตอร์ไซค์ของท่านได้อยู่ในสภาพการใช้งานที่ดี มีระบบไฟที่เสถียร สตาร์ตติดได้ง่าย เร่งความเร็วได้ดี ไม่มีอาการเดินเบา หรือสะดุด ช่วยยึดอายุการใช้งานของชิ้นส่วนต่างๆ ของมอเตอร์ไซค์ท่านได้

ระบบไฟในมอเตอร์ไซค์มีส่วนสำคัญอยู่ 3 ส่วน ดังนี้

1. แบตเตอรี่
แบตเตอรี่มีหน้าที่สำคัญในระบบไฟของจักรยานยนต์ ไม่ว่าจะทำหน้าเก็บกระแสไฟเพื่อนำไปใช้ในการสตาร์ตเครื่องยนต์ และใช้ในการทำงานต่างๆ เช่น ไฟสัญญาณ, ไฟหน้า, ไฟท้าย, ไฟเบรก, แตรสัญญาณ รวมถึงมีหน้าที่ส่งกระแสไฟเพื่อไปเลี้ยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อให้จักรยานยนต์สามารถทำงานได้อย่างปกติอีกด้วย
วิธีการดูแลแบตเตอรี่แบบง่ายๆ สามารถทำได้ดังนี้
ตรวจดูขั้วสายแบตเตอรี่่ทั้งขั้วบวกและขั้วลบว่า หลุดหลวม หรือมีขี้ตะกรันหรือไม่ ถ้ามีให้ใช้น้ำอุ่นล้าง และเอาแปลงลวดขัดให้ออก รวมทั้งตรวจสอบสายระบายไอของแบตเตอรี่ว่าอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะอาจจะทำให้ชิ้นส่วนที่ถูกไอระเหยของแบตเตอรี่ผุกร่อนได้
ตรวจดูระดับน้ำแบตเตอรี่ให้อยู่ในระดับสูงสุด (Max) หรืออย่างน้อยต้องไม่อยู่ในตำแหน่งต่ำสุด (Min) ถ้าน้ำยามีระดับต่ำต้องรีบเติมน้ำกลั่นลงไปให้ได้ระดับ ไม่เช่นนั้นจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อม และเสียไว แล้วยังต้องคอยสังเกตด้วยว่าน้ำยาในแบตเตอรี่่แห้ง หรือไฟหมดเร็วกว่าปกติหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องรีบเช็คระบบไฟทันที
นอกเหนือจากการตรวจเช็คแบตเตอรี่่แล้ว ก่อนขับขี่ทุกครั้งก็ควรตรวจดูไฟสัญญาณต่างๆ ว่าทำงานเป็นปกติหรือไม่ ซึ่งถ้าไฟสัญญาณต่างๆ เริ่มอ่อน ก็เป็นอาการที่แสดงให้เห็นว่าแบตเตอรี่นั้นเริ่มที่จะเสื่อม และเริ่มที่จะจ่ายไฟได้น้อยลงแล้ว

2. หัวเทียน
อาการสตาร์ตติดยาก ออกตัวไม่ดีไม่ค่อยมีกำลัง ล้วนมีสาเหตุมาจากการเสื่อมของหัวเทียนเป็นอันดับแรกทั้งสิ้น ดังนั้น การหมั่นสังเกตดูสภาพหัวเทียนจึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ อาการของรถสตาร์ติดยาก เร่งความเร็วได้ไม่ขึ้น เครื่องยนต์เดินไม่สะดวกขณะเดินเบา หรือเกิดอาการสะดุด มีสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้หัวเทียนชนิดเย็นไป หรือไส้กรองอากาศอุดตัน โช้คค้าง หรือโช้คมากไป ตั้งไฟอ่อนมากไป แต่หากตรวจเช็คดูแล้วว่าที่หัวเทียนมีคราบเขม่าดำ ซึ่งเกิดจากการจุดระเบิดบกพร่อง วิธีแก้ไขก็คือ เปลี่ยนหัวเทียนชนิดร้อนขึ้น (ลดไปใช้หัวเทียนเบอร์น้อยลง) และปรับตั้งเครื่องยนต์ให้ถูกต้อง
วิธีตรวจเช็คหัวเทียนเบื้องต้น สามารถทำได้ดังนี้
หัวเทียนสภาพไม่ปกติ จะมีคราบเขม่าดำแห้งเกาะที่ปลายฉนวนเขี้ยวไฟ และด้านในเปลือกเหล็ก
หัวเทียนสภาพปกติ จะมีคราบสีเทา หรือสีน้ำตาล ที่ปลายฉนวนเขี้ยวไฟมีการสึกหรอน้อย

หลังจากที่เราได้ตรวจเช็คแล้ว หากเราตรวจเช็คที่หัวเทียนแล้วพบว่าเขี้ยวไฟละลาย หรือมีกระเบื้องละลายไปด้วย ถือได้ว่าอาการค่อนข้างร้ายแรง เนื่องจากเป็นอาการที่อุณหภูมิในห้องเผาไหม้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้หัวเทียนชำรุด และยังเป็นอันตรายต่อลูกสูบ โดยเฉพาะเครื่องยนต์แบบ 2 จังหวะ โอกาสที่ลูกสูบติดมีค่อนข้างสูง สำหรับสาเหตุนั้นอาจเกิดจากการใช้หัวเทียนชนิดร้อนไป หรือใช้น้ำมันอ๊อกเทนต่ำไป รวมถึงการตั้งไฟแก่ไป หรือส่วนผสมบางไป มีวิธีแก้ไขคือ ให้ใช้หัวเทียนชนิดเย็นขึ้น ใช้น้ำมันอ๊อกเทนสูงขึ้น หรือตั้งไฟจุดระเบิดให้ถูกต้องรวมทั้งต้องตรวจเช็คการระบายความร้อน และปรับตั้งคาร์บูเรเตอร์ใหม่อีกด้วย

3. ระบบชาร์จไฟ
การตรวจสอบระบบการชาร์จไฟทำได้โดยการใช้โวลต์มิเตอร์ต่อคร่อมเข้ากับขั้วของแบตเตอรี่ แต่สำหรับการวัดค่าการชาร์จโดยการวัดความถ่วงจำเพาะของกรดด้วยไฮโดรมิเตอร์นั้นไม่ควรทำ ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีกรดพอที่จะดูดขึ้นมาใส่ภาชนะเพื่อทำการวัดค่าได้ ในการวัดค่าไฟชาร์จของแบตเตอรี่นั้น ให้ปลดขั้วแบตเตอรี่ออกก่อน ค่าไฟชาร์จถ้าเป็นแบตเตอรี่ขนาด 6 โวลต์ เมื่อทำการวัดด้วยโวลต์มิเตอร์แล้วควรจะมีค่ามากกว่า 6 โวลต์เล็กน้อยถ้าหากวัดได้ 5.6 โวลต์ หรือต่ำกว่า ควรจัดการชาร์จไฟใหม่ และเมื่อชาร์จไฟแล้วค่าที่วัดได้ควรจะอยู่ประมาณ 7.6 โวลต์ แต่ถ้ามากกว่านี้ก็แสดงว่าเซลล์ใดเซลล์หนึ่งเกิดการชำรุดขึ้นมา ส่วนแบตเตอรี่ 12 โวลต์ ที่ใช้กันทั่วไปนั้น เมื่อวัดแล้วควรจะได้ค่าประมาณ 12.5 โวลต์ ถ้าวัดได้ 11 โวลต์ หรือต่ำกว่านี้ก็ควรทำการชาร์จใหม่ โดยที่ขณะชาร์จไฟ โวลต์เตจที่ขั้วควรจะได้ประมาณ 15 โวลต์ และในรถที่ใช้ระบบสตาร์ตไฟฟ้า โวลต์ของแบตเตอรี่ 12 โวลต์ ที่ชาร์จไฟเต็มแล้วควรจะอยู่ระหว่าง 8-10 โวลต์เมื่อสตาร์ทเครื่องแล้ว
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ การดูแลรักษาระบบไฟของมอเตอร์ไซค์นั้นไม่ยาก และไม่ซับซ้อนเลยใช่ไหมครับ หากเราดูแลดีๆมอเตอร์ไซค์ของเราก็จะสามารถใช้งานไปได้อีกยาวนาน และไม่ต้องคอยกังวลว่ารถจะสตาร์ตติดหรือไม่ด้วยครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : checkraka